top of page

พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ด้วยเศษผักเหลือทิ้งฝันที่ไม่เคยฝัน…แต่เป็นจริง


เคยคิดไหมว่าวันหนึ่ง… เราจะสามารถสร้างเทคโนโลยีที่เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นไฟฟ้าได้ด้วยเศษผักเหลือทิ้ง?

แอดมินเชื่อว่าหลายคนคงเคยจินตนาการถึงรูปแบบการใช้พลังงานสะอาดแสงอาทิตย์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความฝันที่เราจะมีรถยนต์พลังงานสะอาดแสงอาทิตย์ใช้ได้อย่างอิสระ ไร้ข้อจำกัดแม้ยามกลางคืน ฝันที่เราจะมีนวัตกรรมแผงโซลาร์เซลล์ฉบับพกพาที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับเครื่องมือสื่อสารของพวกเราได้ตลอดทุกที่ ทุกเวลา หรือจะเป็นฝันที่พวกเราทุกคนมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เพราะการใช้พลังงานแสงอาทิตย์แบบ 100% ไร้มลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ถึงแม้วันนี้ความฝันเหล่านั้นอาจจะยังเป็นเพียงแนวคิด แต่ก็มีความฝันหนึ่งที่เกิดขึ้นจริงนั่นก็คือ… #พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ด้วยเศษผักเหลือทิ้งที่ประเทศฟิลิปปินส์


ผลงานจากคุณ CARVEY EHREN MAIQUE นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ ที่มีชื่อว่า “AUREUS” นวัตกรรมแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตจากเศษผักเหลือทิ้ง โดยสามารถเปลี่ยนความเข้มของแสง UV เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลผู้เป็นเลิศด้านการประดิษฐ์ในสาขารางวัล SUSTAINABILITY AWARD จากเวที JAME DYSON AWARD ในปี ค.ศ. 2020


โดยความน่าสนใจในนวัตกรรมแผงโซลาร์เซลล์ของเขา คือ เดิมแผงโซลาร์เซลล์ที่เราใช้อยู่มักจะทำงานเฉพาะในสภาวะที่มีความเข้มของแสงที่เหมาะสมและเพียงพอเท่านั้น และต้องอยู่กับแสงแดดโดยตรง โดยนวัตกรรมแผงโซลาร์เซลล์แบบใหม่ของเขาแตกต่างออกไป เพราะทำมาจากวัสดุที่โปร่งแสงสามารถดูดพลังงานความเข้มของแสงที่มองไม่เห็นผ่านก้อนเมฆ หรือจากความเข้มของแสงที่สะท้อนออกมาจากตึก ถนน และกำแพงรอบข้างได้ แสงที่เข้ามาพวกนี้จะถูกจับและแปลงเป็นไฟฟ้าด้วยเซลล์โฟโตวอลเทอิก (PHOTOVOLTAIC) เช่นเดียวกับที่พบในแผงโซลาร์เซลล์ทั่วไป และจะสามารถจัดเก็บเป็นพลังงาน หรือใช้ได้ทันทีด้วยการนำอุปกรณ์แผงวงจรควบคุมไฟฟ้ามาใช้ในระบบ


CARVEY กล่าวว่า “ด้วยวิธีนี้ มันสามารถอยู่เดี่ยวๆ หรือสามารถเชื่อมต่อเป็นกลุ่มเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังสามารถรวมเข้ากับระบบโซลาร์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอยู่ได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากกำลังไฟฟ้าของมันเหมาะสำหรับระบบดังกล่าวด้วยเช่นกัน” การทดสอบในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 48 เปอร์เซ็นต์ของเวลาทั้งวัน เมื่อเทียบกับ 10-25 เปอร์เซ็นต์ที่แผงโซลาร์เซลล์ทั่วไปสามารถผลิตไฟฟ้าได้ แต่สิ่งที่ทำให้แผงนี้โดดเด่นกว่าแผงแบบเดิมขึ้นไปอีกคือ #แผงโซลาร์เซลล์นี้ทำมาจากพืชผลทางการเกษตรที่เหลือทิ้ง ไอเดียนี้มาจากการที่ผลผลิตทางการเกษตรของฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับวิกฤตสภาพอากาศที่รุนแรง ส่งผลให้ผลผลิตได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ เขาเลยคิดว่าแทนที่จะปล่อยให้พืชผลเน่าทิ้งเสียประโยชน์ไปทำไมไม่นำมันมาใช้ประโยชน์ และเขายังพบอีกว่ามีพืชถึง 9 ชนิด ที่มีศักยภาพสูงในการนำมาประดิษฐ์และใช้งานในระยะยาว


วิธีประดิษฐ์แผงโซลาร์เซลล์จากเศษพืชของเขานั้น คือการนำเศษพืชมาผสมกับเรซินแล้วค่อยนำมาขึ้นรูป ผนวกเข้ากับนวัตกรรมที่เป็นความลับ แผงที่ออกมาจะออกมาทนทาน โปร่งแสง และสามารถขึ้นรูปเป็นหลายรูปร่างหลายสี ทำให้สามารถเป็นทั้งวัสดุตกแต่งอาคาร และกรองรังสี UV ที่จะเข้าตัวอาคารได้ในเวลาเดียวกัน ในอนาคต CARVEY กำลังมองหาวิธีที่เขาสามารถพัฒนาวัสดุของเขาเพื่อใช้ติดนอกเหนือจากหน้าต่างและผนัง เขาตั้งใจจะนำสิ่งนี้ไปติดได้ทั้งที่ผ้า และฝังลงในรถยนต์ เรือและเครื่องบิน

มาถึงจุดนี้แอดมินเชื่อว่าความฝันที่พวกเราจะมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสร้างพลังงานสะอาดสำหรับทุกคน คงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป เพราะด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจในการอยากเห็นโลกที่ดีขึ้น บวกกับความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์จะทำให้พวกเราคิดค้นสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งจุดเริ่มต้นหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือการมอบความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลังงานสะอาดและวิธีการพัฒนา ประยุกต์ใช้ในทุกพื้นที่ของไทย โดยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทุกคนใช้พลังงานสะอาดพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาชุมชน สังคมให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นต่อไป


Comentarios


bottom of page