top of page

ศักยภาพเส้นใยและทะลายปาล์ม กับการเปลี่ยนเป็นพลังงานชีวมวล


“ปาล์ม” พืชเกษตรกรรมของไทยที่ขึ้นชื่อว่าปลูกมาเพื่อนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานโดยเฉพาะ เช่นการสกัดเป็นน้ำมันปาล์ม ซึ่งก่อเกิดประโยชน์และรายได้ให้ประเทศปีละมหาศาล ซึ่งแน่นอนแต่เดิมเรายังใช้ปาล์มได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยยังไม่ใช้ประโยชน์จากปาล์มทุกส่วน แต่ในปัจจุบันจากแนวคิดพลังงานสะอาดชีวมวล เราได้นำปาล์มมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอยู่ทั้งหมด 5 ส่วน ได้แก่ ใบปาล์ม ทางปาล์มที่เกิดขึ้นในพื้นที่เก็บเกี่ยวหรือสวนปาล์มน้ำมัน ลำต้นปาล์มเกิดในพื้นที่โค่นต้นปาล์ม ขณะที่ทะลายปาล์มเปล่า เส้นใยปาล์ม กะลาปาล์มเกิดขึ้นในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ซึ่งทุกส่วนสามารถเกิดประโยชน์สำหรับการนำมาใช้ให้เกิดเป็นพลังงานสะอาดชีวมวลทั้งสิ้น


พลังงานสะอาดชีวมวลจากปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันและมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมากที่สุดในประเทศ ซึ่งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มจะได้ทะลายปาล์มเปล่า เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต และสามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานทดแทนทั้งไฟฟ้าและความร้อนหรือพลังงานความร้อนร่วมได้


จากผลการศึกษาศักยภาพชีวมวลในประเทศไทยพบว่า กะลาปาล์มและเส้นใยปาล์มเป็นชีวมวลที่มีการนำมาใช้จนหมด และปัจจุบันต้องนำเข้ากะลาปาล์มจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ส่วนทะลายปาล์มเปล่ามีการนำมาใช้แล้วบางส่วน ในขณะที่ใบ ทางปาล์ม และลำต้นยังไม่มีการนำมาใช้ เนื่องจากยังไม่มีเคยมีการศึกษาแนวทางการนำมาใช้เป็นไฟฟ้าพลังงานสะอาด


ในส่วนงานวิจัยที่สนับสนุนการปลูกปาล์ม พืชเศรษฐกิจในการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดชีวมวล ได้มีการศึกษาความเหมาะสมทั้งหมดอยู่หลายเรื่องด้วยกัน ได้แก่ ข้อมูลเกษตรทั่วไป พื้นที่ปลูก พื้นที่ที่เหมาะสม ปริมาณการผลิต แผนการพัฒนาปาล์ม อุตสาหกรรมปาล์ม และที่สำคัญคือการนำปาล์มขึ้นสู่การผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ซึ่งผลสรุปแล้วปาล์มเป็นพืชที่คุ้มค่ากับการผลิตและมีความเหมาะสมทั้งในเชิงคุณภาพ และปริมาณ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดคุณค่าและราคาจำนวนมหาศาล สร้างเป็นเม็ดเงินในการจำหน่ายไฟฟ้าในระบบอุตสาหกรรมได้


นอกจากอุตสาหกรรมปาล์มจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้แล้ว ยังสามารถที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้ทั้งผู้คนในกระบวนการการผลิตตั้งแต่ต้นทาง ชาวสวนปาล์ม เกษตรกรผู้เกี่ยวข้อง โรงงานการผลิต จนไปถึงผู้บริโภคที่ได้ผลต่อเนื่องจากการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด ที่เกิดจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาความยั่งยืนของพลังงานสะอาดให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)


Comments


bottom of page