👉รู้หรือไม่ว่า สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “แมลง” ถือเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีสายพันธุ์มากที่สุดในโลก และมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ รวมถึงการดำรงอยู่ของมวลมนุษยชาติ!
แต่ทุกวันนี้ประชากรแมลงหลากหลายสายพันธุ์ มีความเสี่ยงสูญพันธุ์ เพราะได้รับผลกระทบทั้งจากการรุกรานถิ่นที่อยู่อาศัย การปล่อยมลพิษระบบนิเวศเสื่อมโทรม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ยั่งยืน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ ภาวะโลกรวน (Climate Change) ที่ส่งผลให้สภาพอากาศที่เปลี่ยนไป น้ำหวานที่หายากจากพืช และแห้งเร็วเกินไปในฤดูร้อน หรือฤดูหนาวที่อุณหภูมิสูงเกินไป ก็ไปรบกวนวงจรชีวิตของเหล่าแมลง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตแมลงลดน้อยลงด้วยเช่นกัน
🫣จากรายงานข่าวในเว็บไซต์ของ World Economic Forum เผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยล่าสุด Worldwide decline of the entomofauna : A review of its drivers ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Biological Conservation โดย ดร.ฟรานซิสโก ซานเชส-บาโย นำทีมศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยอีก 73 ชิ้นทั่วโลก ในช่วงเวลา 13 ปี และระบุว่า กว่าร้อยละ 40 ของสายพันธุ์แมลงกำลังลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย โดย 1 ใน 3 ส่วนของจำนวนดังกล่าวใกล้สูญพันธุ์ และหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป พวกแมลงเหล่านี้อาจลาลับไปภายในศตวรรษเดียว
ผึ้งและผีเสื้อ คือ กลุ่มแมลงผู้เคราะห์ร้าย คือ ตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้มีการวิเคราะห์ข้อมูลจากฟาร์มในประเทศอังกฤษว่า ผีเสื้อสายพันธุ์ต่างๆ หายไปมากถึงร้อยละ 58 ในช่วงปี พ.ศ. 2543-2552 และเมื่อปี พ.ศ. 2564 มีการสำรวจประชากรผีเสื้อ ใน 72 รัฐของอเมริกา นักวิจัยพบว่าจำนวนผีเสื้อลดลง 1.6% ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการลดลงของแมลงอื่นๆ
แล้วถ้า “แมลงหายไปจากโลก” อะไรจะเกิดขึ้นกับมนุษย์ !?! คงเป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาในความคิดของทุกคน ซึ่งคงต้องบอกว่า หากแมลงหายไป อาจเกิดวิกฤตเรื่อง “อาหาร” เพราะ 80% ของการผสมเกสรของพืชทั่วโลกเกิดขึ้นเพราะหนึ่งในแมลงอย่าง “ผึ้ง” ถือเป็นผู้ผลิตอาหารให้มนุษย์ที่แท้จริง เจ้าผึ้งตัวน้อยจะคอยผสมเกสรให้กับพืชผักผลไม้จนพืชพันธุ์นั้นผลิดอกออกผลให้มนุษย์อย่างเรากิน เพราะผลิตผลทางการเกษตรทั่วโลกมากถึงร้อยละ 80 เป็นผลงานการผสมเกสรของเจ้าผึ้งแทบทั้งสิ้น
แมลง ยังเป็นพื้นฐานสำคัญในห่วงโซ่อาหาร ที่บรรดานก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และปลากินเป็นอาหาร หากแหล่งอาหารอย่างแมลงหายไป สัตว์เหล่านี้จะขาดอาหาร สัตว์ใหญ่ที่อาศัยกินสัตว์ในห่วงโซ่อาหารลำดับต่อมาก็ต้องล้มตายเป็นทอดๆ ซึ่งผลกระทบที่อธิบายมานี้เกิดขึ้นจริงแล้ว อ้างอิงได้จากการศึกษาเรื่องการหายไปของแมลงและสัตว์ต่างๆ ที่เปอร์โตริโก โดยพบว่าเมื่อแมลงหายไป ปริมาณนกและกบก็หายไปร้อยละ 50-65 ส่วนนกท้องถิ่นเปอร์โตริกัน โทดี (Puerto Rican tody) ที่กินแต่แมลง ก็ลดจำนวนลงอย่างน่าใจหายถึงร้อยละ 90 จนกลายเป็นนกที่เสี่ยงจะสูญพันธุ์เต็มที
นอกจากนี้แมลงจำพวกที่ทำหน้าที่รักษาและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ด้วยการย่อยสลายเศษซากพืช ซากสัตว์ และของเสียในสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนเป็นธาตุอาหารอินทรียวัตถุ ทำให้ผืนดินอุดมสมบูรณ์ ก็กำลังอยู่ในอันตราย เพราะกระบวนการผลิตอาหารยุคใหม่ที่พึ่งพาการใช้สารเคมีเป็นหลัก ส่งผลให้แมลงซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนระบบนิเวศตามธรรมชาติไม่สามารถฟื้นตัวได้ทันในสภาวะเช่นนี้
เพื่อให้พวกเขายังคงช่วยรักษาระบบนิเวศของโลกใบนี้ต่อไป ได้เวลาช่วยชีวิต “แมลง” ก่อนสายเกินไป ด้วยการลดการบริโภคเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการทำลายถิ่นที่อยู่ของแมลงด้วยการใช้สารเคมีมหาศาล ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำและทางอากาศตามมา ช่วยกันอุดหนุนและสนับสนุนอาหารที่ผลิตขึ้นด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเอื้อต่อการผสมเกสรของแมลง และมีกระบวนการควบคุมโรคและศัตรูพืชตามธรรมชาติ ปลอดสารเคมีจากยาฆ่าแมลงที่นอกจากทำให้แมลงสูญเสียที่อยู่อาศัยแล้ว สุขภาพของเกษตรผู้ปลูกพืชผลต่างๆ รวมไปถึงผู้บริโภค ก็จะมีสุขภาพดีตามไปด้วย
อย่างไรก็ดี นักอนุรักษ์ระบุว่าประชากรแมลงยังสามารถฟื้นตัวได้ ด้วยการลดใช้สารจำกัดศัตรูพืช รวมทั้งสร้างสวนในเมืองให้เป็นมิตรต่อสัตว์ชนิดต่างๆ
ดังนั้นสิ่งที่คนตัวเล็กๆ อย่างพวกเราสามารถช่วยได้ คือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้ เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของแมลง และยังช่วยลดการสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก ที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมในด้านอื่นๆ ตามมา
รวมทั้งปฏิบัติตามสูตรสำเร็จ 4D1E ที่จะมารับมือในบุคการเปลี่ยนผ่านทางด้านเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อวงการพลังงาน ซึ่งเป็นนโยบายของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. กระทรวงพลังงาน ในการรณรงค์การใช้ประโยชน์จากพลังงานสะอาดอย่างแสงอาทิตย์ที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โลกของเรายังคงดำรงอยู่ต่อไปอีกตราบนานเท่านาน
ข้อมูลอ้างอิง :
#เปลี่ยนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า #พลังงานสะอาด #กกพ #cleanenergyforlife
Commenti