โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โรงไฟฟ้าที่คิดและออกแบบมาเพื่อการเกื้อกูลกันระหว่างชุมชนและโรงไฟฟ้า ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม หรือการจัดการพื้นที่ ซึ่งแน่นอนการที่โรงไฟฟ้าจะสามารถสร้างในพื้นที่และเป็นมิตรกับชุมชนได้ ส่วนหนึ่งต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่ก่อผลเสียให้กับชุมชน และอีกส่วนชุมชนต้องได้รับผลประโยชน์ด้วยเช่นกัน
เราจึงอยากให้ทุกคนได้รู้จัก 2 ประเภทโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในประเทศไทย พร้อมข้อดี ข้อเสียของแต่ละประเภท เพื่อเข้าใจปัญหา กระบวนการ และการจัดการร่วมกัน…
#โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ คือโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะ ของเสีย น้ำเสียจากชุมชนและอุตสาหกรรม รวมไปถึงของเสียจากภาคการเกษตรและพืชพลังงานในพื้นที่ ซึ่งข้อดีของพลังงานก๊าซชีวภาพคือสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานได้หลายรูปแบบ ทั้งความร้อนในการขับเคลื่อนเครื่องจักร และ ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้ แต่ก็มีข้อเสียในเรื่องของกลิ่นรบกวน แมลงวัน ซึ่งต้องอาศัยระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพต่อไป
#โรงไฟฟ้าชีวมวล คือโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากเศษวัสดุต่างๆ ที่เป็นชีวมวล โดยในประเทศไทยนิยมใช้เศษวัสดุการเกษตร เช่น กากอ้อย แกลบ ทะลายปาล์ม ไม้สับ ซึ่งนั่นคือพืชเศรษฐกิจ แหล่งเชื้อเพลิงสำหรับป้อนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากนั่นเอง ซึ่งประเภทของเศษวัสดุการเกษตรจะแตกต่างกันไป แล้วแต่ความเหมาะสมในการเพาะปลูกของแต่ละพื้นที่ ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของการจัดการพืชผลการเกษตรที่เคยเป็นวัสดุเหลือทิ้ง ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกด้วย ส่วนข้อเสียคือการเผาไหม้เศษวัสดุเพื่อผลิตพลังงานอาจตกค้างในสิ่งแวดล้อม หากมีระบบการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ
โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ไม่ว่าจะแบบไหน ประเภทใดก็ล้วนแล้วถูกคิดและออกแบบโดยคำนึงถึงผู้คนในพื้นที่ ทั้งในเรื่องของระบบการจัดหาวัตถุดิบ ของเสีย การบำบัด หรือสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเรื่องของการตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่ อาจไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหรือสร้างผลเสียเพียงด้านเดียวอีกต่อไป แต่เป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ เพื่อให้พลังงานสะอาดพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนให้ดีขึ้น
Comments