เชื่อไหม ? …ว่าพืชผลการเกษตรสามารถนำมาผลิตเป็นไฟฟ้าได้ แน่นอนว่าเรารู้จักพลังงานสะอาดหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้จากฟ้า พลังงานลมที่ได้จากกระแสลมผ่าน หรือพลังงานจากขยะที่ได้จากสิ่งที่เราทิ้งไปแล้ว แต่มีพลังงานอีกชนิดหนึ่ง ที่หลายคนรู้แล้วอาจไม่เชื่อว่าเป็นไปได้จริงหรือ เกี่ยวพันกันอย่างไร และมีวิธีการได้มาซึ่งไฟฟ้าได้แบบไหนบ้าง นั่นก็คือ พลังงานสะอาดชีวมวล หรือ BIOMASS พลังงานสะอาดที่ได้จากเศษพืช ซาก กากและของเหลือทิ้งจากการทำเกษตรนั่นเอง
BIOMASS หรือ ก๊าซชีวมวล ถือเป็นพลังงานสะอาดทางเลือกใหม่ที่สามารถกำจัดของเหลือจากวิถีเกษตรมาผลิตไฟฟ้าได้ และเป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดที่ถูกเลือกใช้ในหลายพื้นที่ในประเทศไทย เนื่องจากความเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยอุตสาหกรรมการเกษตร จึงไม่แปลกเลยที่เราจะมีของเหลือ กาก เศษซากที่ได้หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตมากมาย จนมากพอที่จะนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้
กากจากวิถีทางการเกษตรจะมีสารอินทรีย์ที่เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานจากธรรมชาติและสามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานได้ เช่น เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือกากจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น แกลบ ได้จากการสีข้าวเปลือก ชานอ้อย ได้จากการผลิตน้ำตาลทราย เศษไม้ ได้จากการแปรรูปไม้ยางพาราหรือไม้ยูคาลิปตัสเป็นส่วนใหญ่ และบางส่วนได้จากสวนป่าที่ปลูกไว้ กากปาล์ม ได้จากการสกัดน้ำมันปาล์มดิบออกจากผลปาล์มสด กากมันสำปะหลัง ได้จากการผลิตแป้งมันสำปะหลัง ซังข้าวโพด ได้จากการสีข้าวโพดเพื่อนำเมล็ดออกกาบและกะลามะพร้าว ได้จากการนำมะพร้าวมาปลอกเปลือกออกเพื่อนำเนื้อ มะพร้าวไปผลิตกะทิ และน้ำมันมะพร้าวส่าเหล้า ได้จากการผลิตแอลกอฮอล์ ฯลฯ ชีวมวล สามารถเปลี่ยนรูปเป็นพลังงานได้ เพราะในขั้นตอนของการเจริญเติบโตนั้น พืชใช้คาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ แล้วเปลี่ยนพลังงาน จากแสงอาทิตย์โดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงได้ออกมา เป็นแป้งและน้ำตาล แล้วกักเก็บไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของพืช ดังนั้น เมื่อนำพืชมาเป็นเชื้อเพลิง เราก็จะได้พลังงานออกมา การใช้ประโยชน์จากพลังงานชีวมวล สามารถใช้ได้ ทั้งในรูปของพลังงานความร้อน ไอน้ำ หรือผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า โดยจะใช้เชื้อเพลิงชีวมวลชนิดใดชนิดหนึ่งที่กล่าวมาข้างต้น หรือหลายชนิดรวมกันก็ได้ ชีวมวลจึงเป็นแหล่งเชื้อเพลิงราคาถูก หากมีการใช้ประโยชน์ในบริเวณที่ไม่ไกลจากแหล่งเชื้อเพลิงมากนัก เพื่อลดต้นทุนในการขนส่งชีวมวลมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย การนำชีวมวลมาใช้จึงช่วยลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าเชื้อเพลิงและสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่น นอกจากนี้การผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวลด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม จะไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและไม่สร้างสภาวะเรือนกระจก เนื่องจากการปลูกทดแทนทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดการหมุนเวียนและไม่มีการปลดปล่อยเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ในการผลิตก๊าซชีวภาพจะต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ต้องมีแหล่งวัตถุดิบที่แน่นอนและมีปริมาณเพียงพอ โดยโรงไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์ ต้องมีวัตถุดิบอย่างน้อย 125 - 140 ตันต่อวัน และมีวัตถุดิบสำรองประมาณ 10 วัน อีกทั้งต้องอยู่ห่างจากแหล่งวัตถุดิบไม่เกิน 10 กิโลเมตร เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายและสะดวกในการขนส่ง รวมไปถึงวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกรณีที่มีโรงไฟฟ้าขนาดเท่ากันหรือมากกว่า 10 เมกะวัตต์
เชื่อว่าหลายคนคงรับรู้ถึงประโยชน์ของการผลิตก๊าซชีวมวลไม่มากก็น้อย และแน่นอนสิ่งสำคัญคือเราต้องปรับตัวและประยุกต์ใช้พลังงานสะอาดให้เหมาะสมกับตัวเองและพื้นที่ เพื่อช่วยโลก ช่วยเรา ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
Comments