top of page

Drive Thru to Clean Energy ไดรฟ์ทรู สู่พลังงานสะอาดที่ชลบุรี


ปลายทางของขยะอยู่ที่ไหน ?

คำถามที่ถูกตั้งขึ้นบ่อยๆ และคำตอบมักเป็นการตามติดขยะก้อนใหญ่บางประเภท เพื่อให้รู้จุดหมายปลายทางการกำจัดอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการฝังกลบ การแปรรูป หรือการเผาเพื่อทำเชื้อเพลิง แต่นั่นย่อมไม่ใช่คำตอบของปลายทางขยะทั้งหมด เพราะยังมีขยะที่หลงเหลือและไม่สามารถส่งรีไซเคิลได้ด้วยบางข้อจำกัด และอาจสามารถเข้าสู่กระบวนการผลิตเชื้อเพลิงไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้ เฉกเช่นผลจากกิจกรรม “ Drive Thru to Clean Energy - ไดรฟ์ทรูสู่พลังงานสะอาด” ภายใต้ความร่วมมือของกลุ่ม “รักษ์กันคนละนิด”


ชาวกรุงกลุ่มหนึ่งในชื่อ “รักษ์กันคนละนิด” ได้รณรงค์และจัดกิจกรรม “Drive Thru to Clean Energy – ไดรฟ์ทรูสู่พลังงานสะอาด” เพื่อหาทางจัดการขยะที่ไม่สามารถส่งรีไซเคิลได้ และพวกเขาเห็นว่ายังไม่ถูกจัดการอย่างเหมาะสม โดยการส่งแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิง RDF (Refuse-Derived Fuel) ผ่านความร่วมมือของภาคประชาชนและภาคเอกชนในจังหวัดชลบุรี


โดยกิจกรรมนี้ได้นัดหมายผ่านช่องทางออนไลน์ ให้ผู้สนใจขับรถมาส่งขยะที่จุดนัดพบ เพื่อรวบรวมส่งโรงแปรสภาพ ซึ่งผลสำเร็จในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ถือว่าดีเกินคาด ซึ่งการทดลองจัดกิจกรรมครั้งแรก มีผู้มาส่งขยะกว่า 130 ราย และมีปริมาณขยะมากกว่า 2 ตัน ที่สามารถใช้แปรสภาพเป็นเชื้อเพลิง RDF ได้ ซึ่งกระบวนการต่อไปของกิจกรรมนี้คือการแปรรูปขยะที่ได้ ผ่านขั้นตอน WASTE TO ENERGY เปลี่ยนขยะเป็นไฟฟ้าพลังงานสะอาด โดยความร่วมมือของภาคเอกชน


“ขยะในชีวิตประจำวันหลายอย่างนั้นส่งรีไซเคิลไม่ได้ อาจเพราะติดข้อจำกัดทางเทคโนโลยีหรือความคุ้มทุน ทางเลือกหนึ่งจึงเป็นการแปรสภาพขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF หรือ Refuse-Derived Fuel ก่อนส่งเผาเป็นพลังงานทดแทนที่โรงปูนซีเมนต์ ขยะที่ทำเป็น RDF ได้คือขยะตัดได้ จุดไฟติดได้ และค่อนข้างแห้งสะอาด เช่น บรรจุภัณฑ์ต่างๆ หลอด เศษไม้ เศษยางและผ้า รวมถึงกล่องนม” นายสมบูรณ์ กิตติอนงค์ ผู้จัดการโรงงานแปรรูปขยะผู้ร่วมกิจกรรมกล่าว


ถึงแม้ขยะ 2 ตัน จะเป็นปริมาณที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับปริมาณขยะในประเทศไทย แต่นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการที่ดี ที่ภาคประชาชนและเอกชนได้มองเห็นถึงปัญหาก้อนเล็กๆ ที่อาจถูกมองข้ามไป และนำเข้าสู่กระบวนการจัดการอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการเลือกนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงไฟฟ้าพลังงานสะอาด ซึ่งแน่นอนว่าผลที่ได้โดยตรงคือ “พลังงานสะอาด” ที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน


Comments


bottom of page