การเรียนรู้และเข้าใจในเรื่องพลังงานต้องเริ่มตอนไหน เมื่อไหร่ถึงพร้อม?
ความเข้าใจในเรื่องของพลังงานและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาดกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ซึ่งคำถามคือ เราควรตระหนัก เข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ตอนไหน ตอนที่โลกกำลังประสบปัญหาแล้วหรือเปล่า ทั้งหมดนี้คือแรงบันดาลใจที่ 2 นักวิจัยชาวสหรัฐอเมริกาเลือกที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อมลงไปในของเล่น เพื่อให้ลูกของพวกเขาและเด็กๆ ทั่วโลกเข้าถึงเรื่องเหล่านี้ได้ไวขึ้น
Rob Davis ผู้อำนวยการศูนย์ผู้ผสมเกสรในรัฐมินเนโซตา และ Jordan Macknick นักวิเคราะห์แห่งห้องปฏิบัติการพลังงานหมุนเวียนสหรัฐ (NREL) ได้ร่วมมือกันก่อตั้งโครงการ InSPIRE โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนโซลาร์ฟาร์ม 30 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา ให้กลายเป็นพื้นที่วิจัยผลกระทบของแผงโซลาร์เซลล์ที่มีต่อสุขภาพดิน น้ำ พืชและสัตว์ในท้องถิ่น ซึ่งมีผลกระทบต่อการผลิตอาหารและต้นทุนด้านพลังงานสะอาดกับมนุษย์
ในอนาคตเมื่อโลกของเราหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นและสามารถพัฒนาจนกลายเป็นอุตสาหกรรมพลังงานขนาดใหญ่ มีการประเมินว่าผลกระทบที่ตามมาอาจมีเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ถึงกับทำลายแต่ไม่ส่งผลดีนัก ตัวอย่างเช่นการบดบังหน้าดิน ผืนน้ำของแผงโซลาร์เซลล์ที่จะใช้ในการผลิตพลังงานสะอาด
โครงการ InSPIRE จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อพัฒนาการทำฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ให้มีผลกระทบน้อยที่สุด และยังช่วยพัฒนาคุณภาพของสิ่งมีชีวิตรอบๆ ฟาร์มโซลาร์เซลล์ด้วย เริ่มจากสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อย่าง “ผึ้ง” สัตว์ตัวเล็กๆ ในระบบนิเวศที่ส่งผลกระทบอันยิ่งใหญ่กับโลก ซึ่งเพราะหากมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ปิดคลุมพื้นที่มากๆ นั้นจะต้องปรับหน้าดิน ถอนทำลายวัชพืชรากลึกต่างๆ เสียก่อน ซึ่งเท่ากับไปทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดินชั้นแรก ทำให้เมื่อติดตั้งแล้วก็จะมีแต่กรวดและหญ้าขึ้นใต้แผงโซลาร์เซลล์
โดยวิธีการติดตั้งและแก้ไขปัญหานี้ของ InSPIRE คือการส่งนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านผึ้ง ทำงานร่วมกับนักวิจัยด้านพลังงานเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของผึ้งและแมลงช่วยผสมเกสรในฟาร์มโซลาร์เซลล์ จนได้วิธีการติดตั้งที่ไม่ต้องปรับหน้าดินและไม่ต้องถอนหญ้า ทำให้วัชพืชต่างๆ ที่เคยขึ้นอยู่เดิมจะยังคงอยู่เช่นนั้นต่อไป ทำให้ผึ้งและแมลงอื่นๆ สามารถผสมเกสรให้กับต้นไม้ท้องถิ่นดังเดิม และแน่นอนการไม่ปรับหน้าดินยังช่วยลดต้นทุนของฟาร์มผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ไปได้ถึง 20% การเก็บวัชพืชท้องถิ่นเอาไว้โดยไม่ถอนทิ้งนั้น ยังช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้ด้วย เนื่องจากอุณหภูมิอุ่นจะทำให้เซลล์ในแผงโซลาร์ด้อยประสิทธิภาพลง แต่ร่มเงาวัชพืชจะช่วยให้แผงโซลาร์เซลล์เย็นลง ส่งผลให้เพิ่มการผลิตพลังงานได้มากขึ้นนั่นเอง
ซึ่งนอกจากงานวิจัยที่ทั้งคู่มุ่งมั่นในการหาหนทางที่ดีกว่าให้โลกแล้ว ทั้งคู่ยังเล็งเห็นว่าความรู้ที่ได้จากการวิจัยนี้ สามารถสอนให้เด็กๆ เรียนรู้และเข้าใจเรื่องพลังงานรวมทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อมอย่างสนุกได้ด้วย ทั้งสองจึงทำ “ชุดฟาร์มโซลาร์” โดยใช้เป็นตัวต่อเลโก้ (LEGO) ถึง 375 ชิ้น ที่เป็นมิตรต่อแมลงผสมเกสร มีรังผึ้ง มีแกะกำลังเล็มหญ้า และมีวิศวกรดูแลฟาร์ม ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านการเล่น นอกจากเด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องดิน น้ำ อาหาร ไปจนถึงความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศและอาชีพในแวดวงพลังงานทางเลือกอีกด้วย
Comments