top of page

MICRO PLASTIC ขยะที่ไม่ควรเกิดตั้งแต่ต้น


“ขยะพลาสติก” คือปัญหาใหญ่ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เพราะขยะพลาสติกจะคงอยู่ในธรรมชาติและกว่าจะย่อยสลายต้องใช้เวลานับร้อยปี ซึ่งสร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อมทั้งน้ำ อากาศ และดิน ในทางตรงกันข้ามมันยังคงเป็นความต้องการของมนุษย์อยู่เสมอ นั่นหมายความว่าจะมีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวินาที ทำให้หลายประเทศที่เห็นถึงปัญหานี้ หันมาจัดการขยะพลาสติกอย่างจริงจัง ทั้งการรณรงค์ ปลูกจิตสำนึก การออกกฎหมาย หรือ สร้างนวัตกรรมต่างๆ …แต่รู้หรือไม่ ว่าขยะพลาสติกที่จัดการได้ยากที่สุด กลับมีขนาดที่เล็กที่สุด มีปริมาณมากที่สุด และ อันตรายที่สุด นั่นคือ “ขยะไมโครพลาสติก”


“Micro Plastic” คือพลาสติกขนาดจิ๋วที่แตกตัวออกมาจากพลาสติกทั่วไป ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งเล็กมาก มากจนสามารถรอดพ้นเครื่องดักจับขยะได้ เล็กมากจนสามารถปะปนในอาหารได้ และเล็กมากคล้ายไข่ปลาจนทำให้ปลาน้อยใหญ่ในท้องทะเลบริโภคเข้าไปโดยไม่รู้ตัว จากรายงานเรื่อง Primary Microplastics in the Oceans: a Global Evaluation of Sources ของ IUCN เมื่อปี ค.ศ. 2017 โดย Julien Boucher และ Damien Friot ระบุว่า ไมโครพลาสติก ส่วนมากมาจาก 3 แหล่งใหญ่ด้วยกัน คือ


1. เศษพลาสติกจากกระบวนการผลิตพลาสติกต่างๆ มากถึง 85% ผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างๆ ที่พวกเราใช้อยู่ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก กะละมัง หรือแก้วพลาสติก ล้วนแล้วแต่มีจุดเริ่มต้นในรูปของเม็ดพลาสติกขนาด 2-5 มิลลิเมตรทั้งนั้น ซึ่งในระหว่างกระบวนการผลิต การขนส่ง หรือรีไซเคิล เม็ดพลาสติกเหล่านี้อาจเล็ดรอดออกไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ด้วยวิธีต่างๆ ทั้งการปนเปื้อนในท่อน้ำทิ้ง หรือแม้แต่ติดรองเท้าของพนักงานออกไป


2. การซักผ้าที่มีส่วนผสมของใยสังเคราะห์ 12% การซักผ้าที่มีส่วนผสมของใยสังเคราะห์ในหนึ่งครั้ง อาจปลดปล่อยเส้นใยไมโครพลาสติกได้มากถึง 640,000-1,500,000 เส้น ขึ้นอยู่กับชนิดของผ้า ซึ่งแน่นอนโอกาสที่จะปนเปื้อนไปกับน้ำทิ้งออกสู่ทะเลย่อมมีมาก


3. ยางสังเคราะห์ของล้อยานพาหนะ 2% เมื่อล้อยางเสียดสีกับผิวถนน ยางสไตรีนบิวตาไดอีน หรือยางเอสบีอาร์ (Styrene-Butadiene Rubber, SBR) ที่เป็นส่วนผสมของผิวยางรถชั้นนอกจะค่อยๆ สึกกร่อนไป ซึ่งฝุ่นผงจากการสึกกร่อนนี้ อาจถูกพัดพาไปกับลมหรือถูกชะออกจากผิวถนนเมื่อฝนตก และไปถึงทะเลในที่สุด


การแตกตัวและปนเปื้อนเหล่านี้ ได้นำพาไมโครพลาสติกออกไปสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ สัตว์น้ำ และย้อนกลับมาที่มนุษย์ เป็นวัฏจักรผ่านการบริโภคสัตว์น้ำ และด้วยขนาดที่เล็กมากๆ ทำให้ยากต่อการจัดการดูแลให้เหมือนขยะพลาสติกประเภทอื่น ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ ใช้ใหม่ รวมไปถึงการนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้

ดังนั้นขยะจาก “ไมโครพลาสติก” จึงไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น นั่นหมายความว่าถ้าเราทุกคนลดการใช้พลาสติก ก็จะลดการผลิตลงซึ่งส่งผลดีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะมีขยะไมโครพลาสติกปนเปื้อนน้อยลงไปด้วย


Comments


bottom of page