“ป่าเด็งโมเดล” จากปัญหาห่างไกลความเจริญ และขาดแคลนไฟฟ้าในการใช้ชีวิต สู่การลองผิด ลองถูกในการใช้พลังงานสะอาด เพื่อเอาตัวรอดของคนในพื้นที่ จนในวันนี้ได้รับการยกย่องจากหลายหน่วยงาน ให้เป็นพื้นที่แห่งนวัตกรรมพลังงานสะอาด พื้นที่แห่งการพึ่งพาตนเองอย่างแท้จริง
โกศล แสงทอง ประธานเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อบ้านป่าเด็ง คือผู้ริเริ่มและกระจายแนวคิดการพึ่งพาตนเองโดยใช้พลังงานสะอาดในพื้นที่บ้านป่าเด็ง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าลึกบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี แต่เดิมชาวบ้านใช้ชีวิตกันค่อนข้างลำบาก การหุงหาอาหารยังใช้การตัดไม้มาเผาถ่าน ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง สัญญาณโทรศัพท์ไม่มีทำให้เหมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก จึงกลายเป็นแรงผลักดันให้มีการเริ่มศึกษาการทำก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ โดยคุณโกศลและเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อบ้านป่าเด็ง ได้เรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูก และได้ออกไปเพิ่มเติมความรู้โดยการดูงานในพื้นที่ต่างๆ ก่อนที่จะนำความรู้ที่ได้กลับมาทดลองทำ ทดลองใช้ให้เข้ากับพื้นที่จนประสบความสำเร็จ
“จำได้ว่าช่วงนั้นพวกเราก็ไม่มีเงินทองมากนัก บางครั้งต้องเอากล้วยเอามะนาวไปแลกความรู้ ขณะที่การติดตั้งซึ่งมีราคาราว 3,900 บาท เป็นราคาที่สูงเกินไปสำหรับชาวบ้าน จึงได้ใช้วิธีลงขันจับฉลาก คนละ 300 บาทต่อเดือน 1 เดือน ซื้ออุปกรณ์ 1 ครั้ง วนไปจนกว่าจะครบจำนวนคน นอกจากที่นี่จะผลิตไบโอแก๊สแล้ว กลุ่มชาวบ้านยังนำแผงโซลาร์เซลล์จากนโยบาย Solar home ที่รัฐบาลแจกให้บ้านเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ในปี พ.ศ. 2545-2546 แต่พังไปตามเวลาและการใช้งาน กลับมาซ่อมแซมใช้ใหม่ได้อีกครั้ง” โกศล แสงทอง ประธานเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อบ้านป่าเด็งกล่าว
จากความพยายามของชาวบ้านเครือข่ายตามรอยพ่อบ้านป่าเด็ง ในการพึ่งพาตนเองและนำองค์ความรู้เรื่องพลังงานสะอาดมาปรับใช้ในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยได้เสนอขอทุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นพีดี เพื่อนำมาพัฒนาหมู่บ้านนั้น ได้รับการยอมรับจากยูเอ็นพีดีว่า โครงการป่าเด็งเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณน้อยที่สุด เพียง 10,000 บาท แต่กลับกลายเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด
ทั้งนี้โครงการคนบันดาลไฟ ปีที่ 1 ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้มีโอกาสลงไปจัดกิจกรรมอบรมคนบันดาลไฟในพื้นที่บ้านป่าเด็ง เพื่อเป็นจุดกระจายความรู้ให้กับผู้ที่สนใจทั่วประเทศ ทำให้เห็นได้ถึงความร่วมมือกันของเครือข่ายและชุมชนในการจัดการพลังงานสะอาดให้เหมาะสมกับพื้นที่ พร้อมที่จะกระจายองค์ความรู้ต่อไป
Comments