top of page

ก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา


ผักตบชวา วัชพืชโตง่าย แพร่กระจายเร็ว และทนทานต่อสภาพแวดล้อม ที่มีถิ่นกําเนิดในแถบลุ่มน้ำอะเมซอน ประเทศบราซิล ในทวีปอเมริกาใต้ กลายมาเป็นพืชสายพันธุ์เอเลี่ยนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยลักษณะการเติบโตและเกาะเกี่ยวกันเป็นแพหนา ทำให้บดบังแสงแดดที่จะส่องลงไปยังใต้แม่น้ำ ทำให้พืช ซึ่งเป็นแหล่งอาศัย และอาหารของสัตว์น้ำ ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้เพราะขาดออกซิเจน จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ ทำให้น้ำเน่าเสีย ผักตบชวาจึงกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยต้องเสียงบประมาณจำนวนมากในการกำจัด


ซึ่งในอดีตเราใช้วิธีการกำจัดผักตบชวา โดยการนำขึ้นมาไว้ริมตลิ่งเพื่อให้แห้งและตายไป ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าผักตบชวาควรสร้างคุณค่าได้มากกว่าการทิ้งให้กลายเป็นขยะ จึงนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาใช้กับผักตบชวา จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้านมากมาย แต่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางความคิดในปัจจุบัน ทำให้มีการศึกษาถึงประโยชน์อื่นของผักตบชวา และพบว่าผักตบชวาสามารถถูกนำมาผลิตเป็นพลังงานสะอาดก๊าซชีวภาพได้


“ผักตบชวา” สามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานสะอาดได้โดยกระบวนการหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ เนื่องจากมีอัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจนเฉลี่ยเท่ากับ 21 ซึ่งเป็นค่าที่เหมาะสมในการเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตก๊าซชีวภาพ ที่ควรอยู่ในช่วงระหว่าง 20-30 และเมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตก๊าซแล้วก็จะได้เชื้อก๊าซชีวภาพที่มีคุณภาพเหมาะสมเช่นกัน


ในส่วนการสนับสนุนของภาครัฐนั้น ได้มีการเตรียมจัดทำรายละเอียดโครงการนำผักตบชวามาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด เสนอต่อปลัดกระทรวงพลังงาน เพื่อให้เกิดเป็นโครงการนำร่องขนาดเล็กในพื้นที่ที่มีศักยภาพวัตถุดิบและคุ้มค่าการลงทุน


จากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มี 4 จังหวัด ที่มีผักตบชวาปริมาณมาก ได้แก่

1. จังหวัดชัยนาท มีปริมาณผักตบชวา 1 แสนตันต่อปี ผลิตก๊าซชีวภาพได้ 8.7 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อปี

2. จังหวัดสุพรรณบุรี มีผักตบชวา 1.4 แสนตันต่อปี ผลิตก๊าซชีวภาพได้ 1.1 แสนลูกบาศก์เมตรต่อปี

3. จังหวัดนครปฐม มีผักตบชวา 1.13 แสนตันต่อปี ผลิตก๊าซชีวภาพได้ 9 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อปี

4. จังหวัดสมุทรสาคร มีผักตบชวา 5 พันตันต่อปี ผลิตก๊าซชีวภาพได้ 4 พันลูกบาศก์เมตรต่อปี


ซึ่งมีการประเมินความเป็นไปได้ว่าจังหวัดนครปฐมและจังหวัดสุพรรณบุรี อาจตั้งโรงไฟฟ้าจากผักตบชวาได้ และได้มีการพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ พบว่าจะต้องใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 15-26 ปี และอาจจะต้องพิจารณาความเหมาะสมกันต่อไป ทั้งนี้การใช้ผักตบชวาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานสะอาดก๊าซชีวภาพนั้น นอกจากจะสามารถนำมาผลิตเป็นไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้แล้ว ยังสามารถช่วยกำจัดผักตบชวา ซึ่งถือเป็นขยะในแม่น้ำลำคลองได้อีกด้วย ทั้งนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน


Comments


bottom of page