สีสันสดสวยของดอกไม้หลากหลายชนิด นับเป็นรางวัลมหัศจรรย์จากธรรมชาติที่มอบให้มนุษย์ไว้ชื่นชมเพื่อความสุขใจ และยังเป็นของขวัญที่มอบให้กันในวาระโอกาสต่างๆ แทนอารมณ์ความรู้สึกพิเศษ และสร้างความหมายทางใจได้เป็นอย่างดี แต่ในความงดงามของดอกไม้…กลับมีพิษร้ายซ่อนอยู่
.
คนส่วนใหญ่อาจไม่คาดคิดว่า ภายใต้สีสันและรูปลักษณ์ที่สร้างความอภิรมย์ให้กับโลกอยู่เสมอนั้น กลับเป็นตัวการสำคัญของการทำลายสิ่งแวดล้อม แม้ดอกไม้จะเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายกลับคืนสู่ดินได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลา นอกจากนั้นช่อดอกไม้ 1 ช่อ ยังมีขยะมลพิษแฝงมาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นก้อนโอเอซิสสีเขียว กระดาษห่อ สำลี ที่ล้วนเป็นตัวร้ายย่อยสลายยากทั้งสิ้น
.
ไม่ใช่แค่เพียงวัสดุองค์ประกอบของช่อดอกไม้ที่สร้างพิษร้ายให้กับธรรมชาติเท่านั้น แต่การทำธุรกิจที่เกี่ยวกับดอกไม้ ล้วนเป็นวงจรที่ก่อให้เกิดมลพิษตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ตั้งแต่ “การปลูก” ที่ต้องใช้สารเคมีและพลังงานในปริมาณสูง “การเก็บดอกไม้และการขนส่ง” ที่ล้วนแต่ต้องอยู่ในห้องควบคุมความเย็น “ของตกแต่งเข้าช่อ” ที่ประกอบไปด้วยเศษวัสดุที่ไม่อาจย่อยสลายได้อีกมากมาย หรือแม้แต่ตัว “ดอกไม้” เองที่สุดท้ายจะกลายเป็นขยะทิ้งสะสมไว้จนเกิดเป็นก๊าซมีเทนทำลายชั้นบรรยากาศของโลก
.
👉มีการคำนวณพบว่า กุหลาบประมาณ 100 ล้านช่อที่ชาวอเมริกันส่งให้กันในวันวาเลนไทน์ สามารถสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 9,000 ตัน!
.
แม้จะพบว่าดอกไม้สามารถสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หากจะมีการห้ามไม่ให้ปลูกดอกไม้ หรือห้ามไม่มีกิจการเกี่ยวกับดอกไม้ คงเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน ดังนั้นการรณรงค์ให้ปลูกดอกไม้ด้วยการใช้เฉพาะสารอินทรีย์ ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดทอนปริมาณมลพิษที่ส่งผลเสียต่อทั้งมนุษย์และโลกลงได้บ้าง
.
และธุรกิจจะต้องมองเห็นความสำคัญของดอกไม้ควบคู่ไปกับการรักษาความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับหาทางแก้ไขปัญหาขยะดอกไม้ด้วยวิธีการหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการ “Recycle” และ “Upcycle” ด้วยการเปลี่ยนดอกไม้ที่ดูเหมือนจะนำไปใช้งานต่อไม่ได้แล้วให้กลับมาใช้งานใหม่ได้อีกครั้ง
.
หรืออย่างในประเทศอินเดีย แต่ละปีจะมีดอกไม้จำนวนหลายล้านตันจากพิธีการบูชาเทพเจ้าถูกทิ้งให้กลายเป็นมลพิษทางน้ำอย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงทำให้เกิดธุรกิจอย่าง “Phool.co” ที่จัดการนำขยะดอกไม้มา Recycle ใหม่ให้กลายเป็นธูปหอม กระดาษ และสีน้ำ ธุรกิจนี้ช่วยลดจำนวนดอกไม้ถูกทิ้งไปได้ไม่น้อย ทั้งยังช่วยลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถย่อยสลายในทางชีวภาพได้ด้วย
.
👉ในประเทศไทยเองก็มีร้านดอกไม้ “Flower in Hand by P.” ที่เป็นร้านดอกไม้หัวใจรักษ์โลก ด้วยการช่วยออกแบบช่อดอกไม้สำหรับโอกาสต่างๆ และนำขยะดอกไม้ที่เหลือจากการจัดช่อแต่ยังมีความสวยงามอยู่มาเปลี่ยนเป็นดอกไม้แห้ง นอกจากนั้นยังนำไปเข้ากระบวนการ Upcycle เปลี่ยนขยะให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้งานต่อในรูปแบบต่างๆ อาทิ กรอบรูป การ์ดอวยพร หรือสร้างสรรค์เป็นช่อดอกไม้แห้ง เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือก
.
ขณะที่ผู้บริโภคหรือคนซื้อเองก็ควรมีส่วนในการร่วมรับผิดชอบต่อการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน โดยการเลือกซื้อดอกไม้ที่มีในท้องถิ่นตามฤดูกาล ลดการจัดช่อดอกที่จะสร้างขยะแฝง เปลี่ยนจากการมอบช่อดอกไม้เป็นสิ่งของที่สามารถนำไปใช้งานได้อย่างยั่งยืน หรือใช้วิธีการแสดงออกทางความรักและความรู้สึกในรูปแบบอื่น เหล่านี้ล้วนเป็นการปรับและเปลี่ยนเพื่อรักษาความงดงามให้คงอยู่คู่ไปกับโลก ให้น่าอยู่มากขึ้นกว่าเมื่อวาน
.
ที่มาข้อมูล :
https://urbancreature.co/flower-waste/?fbclid=IwAR39weJ8AWkELlcwdhOvd_U4w-NG0Sv-sWJvMcQ1QPG3YlMxkEZAywYChA4
https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/110213
Comments