ปัญหาหลักของเกาะทั่วโลก คงหนีไม่พ้นปัจจัยด้านทรัพยากรและพลังงาน ที่เอื้อประโยชน์กับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำสะอาด หรือพลังงานไฟฟ้า ซึ่งในหลายประเทศเลือกที่จะรอการพัฒนาจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งหากประเทศนั้นๆ มีเกาะจำนวนมาก ก็อาจต้องใช้เวลานานไปด้วย แต่ก็ไม่ใช่ทุกเกาะจะคิดเช่นนั้นเสมอไปและหันมาใช้พลังงานสะอาดที่สามารถผลิตได้เองจากทรัพยากรที่มีอยู่บนเกาะ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม แดด หรือน้ำ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขา
เกาะติลอส ประเทศกรีซ เกาะขนาดเล็กที่มีผู้คนอาศัยอยู่ราวๆ 500 คน ในแถบหมู่เกาะทะเลอีเจียน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 800 คน จากแรงงานที่มาทำงานรับจ้างตามฤดูกาลและนักท่องเที่ยวที่มาเยือน ชาวเกาะที่นี่เลี้ยงปากท้องด้วยการทำประมงและเลี้ยงแพะเป็นหลัก ซึ่งพวกเขาก็ประสบปัญหาที่คล้ายกันกับหลายเกาะทั่วโลก คือขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า
สายเคเบิลใต้ทะเลที่เชื่อมระหว่างเกาะติลอสกับเกาะคอส คือหนทางเดียวที่ทำให้เกาะแห่งนี้สว่างไสวด้วยแสงไฟฟ้า แม้ว่าบนเกาะคอสจะมีโรงไฟฟ้า แต่ก็มีน้ำมันที่ไม่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า จึงนำมาสู่ปัญหาเรื่องไฟตกหรือไฟดับ ส่งผลเสียต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าและคุณภาพชีวิตของผู้คนภายในเกาะ ซึ่งปัญหานี้ทำให้ชาวเกาะติลอสกลับรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าอับอาย ที่กรีซยังมีการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ไม่เสถียร พวกเขาจึงลุกขึ้นมาปฏิรูปพลังงานในเกาะให้พึ่งพาตนเองมากขึ้น
เกาะติลอสจึงเป็นเกาะแรกในยุโรปใต้ที่มีการก่อสร้างสถานีพลังงานไฮบริด โดยจะเป็นต้นแบบเกาะหรือชุมชนห่างไกลทั้งหลาย ที่ต้องการพึ่งพาตนเองโดยการใช้พลังงานไฟฟ้าพลังงานสะอาด เกาะห่างไกลเหล่านี้จึงกลายเป็นศูนย์การทดลองเทคโนโลยีพลังงานใหม่ๆ ของโลกไปด้วย อาทิ หมู่เกาะออร์กนีย์ของสกอตแลนด์เป็นศูนย์สถานีพลังงานลมและพลังงานน้ำขึ้นน้ำลง ส่วนหมู่เกาะฟิจิที่มีเกาะแก่งกว่า 300 เกาะ ก็เป็นฟาร์มโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดในน่านน้ำแปซิฟิก
แต่ถึงแม้การพัฒนาจะเกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ชาวเกาะติลอสก็ยังคงนึกถึงธรรมชาติดั้งเดิมที่มีอยู่ในเกาะแห่งนี้ นั่นคือ “นกป่าหายาก” ทีมงานจาก Hellenic Ornithological Society องค์กรอนุรักษ์นกป่าหายากในประเทศกรีซ จึงถูกส่งตัวไปยังเกาะติลอสเพื่อหาจุดที่เหมาะสม ในการติดตั้งกังหันลมสูง 55 เมตร โดยโจทย์จะต้องไม่ก่อกวนวิถีชีวิตของนกอินทรีปีกดำ (Bonelli’s Eagle) ซึ่งจะมาพักผ่อนที่เกาะติลอสในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งทั้งนี้พลังงานลมไม่ใช่พลังงานสะอาดเดียวที่เกิดขึ้นบนเกาะแห่งนี้
โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดระบบไฮบริดบนเกาะติลอส เป็นคำตอบแห่งความยั่งยืนที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้จากกังหันลมและพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเก็บพลังงานไว้ในแบตเตอรีความหนาแน่นพลังงานความจุสูง 2 ก้อน เป็นโรงไฟฟ้าเล็กๆ ที่จ่ายไฟให้กับบ้านเรือน 100 หลังบนเกาะติลอส
จากปัญหาสู่การแก้ไขด้วยความยั่งยืนด้านพลังงานของเกาะแห่งนี้ ได้กลายเป็นโมเดลการเรียนรู้ให้เกาะหลายเกาะในแถบยุโรปใต้ ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องพลังงานสะอาดและการพึ่งพาตนเอง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการใช้พลังงานสะอาดของลันตาโมเดล เกาะพลังงานสะอาดที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย ที่สามารถคว้ารางวัลคนบันดาลไฟ อวอร์ด ประเภทองค์กรได้สำเร็จ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ซึ่งมีปณิธานในพลังงานสะอาดได้มีส่วนพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนอย่างยั่งยืน
Comments