top of page

ตุลาคม 2023 ขึ้นแท่นเดือนร้อนสุด🌏ทะลุจุดเดือด เป็นประวัติการณ์ของโลก !


เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปี 2023 โลกกำลังพบกับ ปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้น และทำให้หลายประเทศทั่วโลก ต้องเผชิญทั้งวิกฤตภัยแล้ง คลื่นความร้อน น้ำท่วม ไฟป่า นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปี 2024


โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานจากนักอุตุนิยมวิทยา และ “Copernicus Climate Change Service” (C3S) หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป เปิดเผยว่า เดือนตุลาคม 2023 เป็นตุลาคมที่ร้อนที่สุด เป็นประวัติการณ์ของโลก !


 รายงานใหม่เผยเพิ่มเติมว่า ปี 2023 เป็นปีที่มีทั้งคลื่นความร้อน น้ำท่วม ไฟป่านี้ จึงกำลังจะขึ้นแท่นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมาด้วย จากเดิมสถิติอยู่ที่ปี 2016 โดยสถิติของอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นราว 0.4 องศาฯ ทำลายสถิติเดิม และเป็นอัตราที่สูงผิดปกติของเดือนตุลาคมในปีอื่นๆ และยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือนตุลาคมในช่วงปี 1850 – 1900 ซึ่งเป็นช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมที่ใช้อ้างอิง ถึง 1.7 องศาเซลเซียส


ซาแมนธา เบอร์เกสส์ รองผู้อำนวยการของ (C3S) กล่าวว่า “เดือนตุลาคม 2023 มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างผิดปกติ และทุบสถิติอุณหภูมิทั่วโลกที่สูงทำสถิติมาทั้งสี่เดือนก่อนหน้า เราสามารถพูดได้อย่างมั่นใจว่า ปี 2023 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ และปัจจุบันอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรม 1.43 องศาเซลเซียส จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศตามที่ตั้งเป้าไว้สูงในการประชุม COP28 (การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28) ไม่เคยสูงกว่านี้มาก่อน”


สำหรับปัจจัยที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มีสาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ทำให้อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกสูงขึ้น ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลเข้าแทนที่กระแสน้ำเย็นที่อยู่ตามชายฝั่ง พัดพาความร้อนนั้นมาที่ชายฝั่งทางตะวันออกของทะเลแปซิปิก และปล่อยความร้อนสู่ชั้นบรรยากาศ


 


นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ต่างๆ อันเป็นผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2023 เช่น ระดับน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกยังคงอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงเวลานี้ของปี ปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วยุโรปส่วนใหญ่ โดยพายุบาเบต (Babet) และพายุอลีน (Aline) ส่งผลกระทบต่อโปรตุเกสและสเปน ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วม


นอกเหนือจากฝั่งยุโรปแล้ว ยังมีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยในหลายภูมิภาค ทั้งทางตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกาเหนือ, บางส่วนของคาบสมุทรอาหรับ, ภูมิภาคเอเชียกลางและไซบีเรีย, จีนตะวันออกเฉียงใต้ บราซิล นิวซีแลนด์ และภูมิภาคทางตอนใต้ของแอฟริกา ซึ่งภาวะดังกล่าวมักเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนตัวของพายุไซโคลนซึ่งก่อให้เกิดฝนตกหนักและสร้างความเสียหายอย่างมาก


ไม่เพียงเท่านี้ ในเดือนตุลาคม 2023 ที่ผ่านมา หลายประเทศในยุโรปต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนและพายุฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ซึ่งบางภูมิภาคนั้นมีอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส แม้จะเข้าสู่เดือนพฤศจิกายนแล้วก็ตาม และนับเป็นครั้งแรก ที่ช่วงเวลาในเดือนพฤศจิกายนจะยังคงมีอุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส


รวมถึงสหราชอาณาจักรมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติประมาณ 1 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนใต้ของอังกฤษมีอุณหภูมิที่อบอุ่นที่สุดที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 1.7 องศาเซลเซียส แต่สำหรับพื้นที่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ มีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือนตุลาคม ในช่วงปี 1991-2020 ถึง 4 องศาเซลเซียส


ในขณะที่อิตาลีเผชิญสภาพอากาศที่อุณหภูมิสูงกว่าปกติถึง 3 องศาเซลเซียส และที่ผ่านมามีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมรุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศ


อีกทั้งในบางภูมิภาคแห้งแล้งกว่าค่าเฉลี่ย ทั้งในสหรัฐอเมริกาตอนใต้และบางส่วนของเม็กซิโกที่ต่างก็ประสบภัยแล้ง รวมไปถึงภูมิภาคเอเชีย อย่างญี่ปุ่น ที่กำลังเผชิญฤดูใบไม้ร่วงที่ร้อนที่สุดในรอบ 100 ปี โดยสํานักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ระบุว่า กระแสอากาศอุ่นยังคงพัดเข้ามายังประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้ต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนในหลายพื้นที่ โดยในวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา กรุงโตเกียวมีอุณหภูมิสูงสุดที่ 27.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิสูงสุดในเดือนพฤศจิกายนในรอบ 100 ปี


แม้สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจะเป็นผลมาจากน้ำมือของมนุษย์อย่างเราๆ แต่ขณะเดียวกันเราทุกคน ก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันชะลอภาวะโลกรวนได้ โดยนำแนวทางของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กระทรวงพลังงาน มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า เลือกใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น


เพราะโลกเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยนตามโลก ! ใครไม่ Change Climate Change😍🌏



Comments


bottom of page