🧐สังเกตกันบ้างไหมว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกได้ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก คาดการณ์ว่าโลกจะมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ภายในปี 2027 และจะกลายเป็นช่วงเวลาที่โลกทำสถิติร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยคาดว่าระหว่างปี 2023-2027 อุณหภูมิใกล้ผิวโลกเฉลี่ยรายปีจะมากกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมระหว่าง 1.1-1.8 องศาเซลเซียส
ปัจจัยหลักที่ทำให้โอกาสการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้น มาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อไป โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุถึงความสำคัญของตัวเลข 1.5 องศาเซลเซียสนี้ว่า เป็นจุดหักเหที่หากโลกร้อนขึ้นเกินนี้ เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม จะนำมาซึ่งความเสียหายหรือการเปลี่ยนแปลงชนิดที่แก้ไขให้ย้อนกลับคืนมาดีดังเดิมไม่ได้ 🌏🍀
นอกจากนี้ยังเป็นตัวเลขที่ได้ตกลงและลงนามกันไว้ใน “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) ที่มีการกำหนดไว้ว่า ชาติภาคีจะร่วมกันรักษาดูแลไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และหากจะให้ดีต้องควบคุมให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
👉แม้ตัวเลข 1.5 องศา อาจดูเหมือนน้อยนิด แต่ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมนั้นกลับมหาศาล เช่น แนวปะการังอาจตายลง แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่สภาวะอากาศสุดขั้วต่างๆ ทั้งภัยแล้ง ไฟป่า น้ำท่วมรุนแรง และสารพัดภัยพิบัติธรรมชาติ รวมไปถึงการขาดแคลนอาหาร
ที่สำคัญสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนั้น ส่งผลกระทบต่อธารน้ำแข็งทั่วโลก โดยมีงานวิจัยที่เผยแพร่ผ่านวารสาร Science เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งเกือบครึ่งหนึ่งของโลกอาจหายไป และทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 3.5 นิ้วภายในปี 2100 หากโลกอุ่นขึ้น 2.7 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้ธารน้ำแข็งเกือบทั้งหมดในแคนาดาตะวันตก สหรัฐอเมริกา (รวมทั้งอลาสก้า) และยุโรปกลางก็จะหายไป แต่ถ้าหากอุณหภูมิพุ่งสูงขึ้น 4 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด ธารน้ำแข็ง 80% ของโลกจะหายไป และทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 6 นิ้ว ซึ่งล้วนส่งผลกระทบมากมาย เช่น ทำให้น้ำท่วมหลายพื้นที่ เกิดพายุซัดฝั่ง พายุรุนแรงและก่อตัวง่ายขึ้น บ่อยขึ้น และที่สำคัญคือทรัพยากรน้ำจะลดลง กระทบต่อประชากรทั่วโลกกว่า 2,000 ล้านคน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เดวิด เราวนซ์ (David Rounce) และทีมนักวิจัยได้ลงพื้นที่วัดธารน้ำแข็ง Imja-Lhotse Shar ใกล้กับเอเวอร์เรสเบสแคมป์ ในปี 2013-2017 พบว่าธารน้ำแข็งได้ถดถอยละลายลงเรื่อยๆ และในขณะที่ธารน้ำแข็งละลาย ปริมาณน้ำในทะเลสาบที่เอเวอร์เรสเบสแคมป์อันโด่งดัง ก็เพิ่มขึ้นด้วยน้ำจากธารน้ำแข็งที่ละลายไหลเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง
แต่ถึงแม้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ทว่าปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นได้รวดเร็วเพียงใด และยังมีคำเตือนด้วยว่า ต่อไปจะเกิดวงจรของห้วงเวลาที่โลกร้อนขึ้นแบบนี้ถี่ขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้นหากทั่วโลกช่วยกันควบคุมอุณหูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นไปมากกว่านี้ ก็จะสามารถช่วยรักษาธารน้ำแข็งส่วนอื่นๆ ไว้ได้ ด้วยการลดกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิดสภาวะโลกรวน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเราทุกคนสามารถร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อช่วยลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ 🔥
ที่มาข้อมูล :
Comentarios