น้ำเสียจากการผลิตขนมจีนผลิตไฟฟ้าได้ ?
คำถามนี้อาจทำให้คนนอกแวดวงพลังงานเกิดข้อสงสัยและคิดว่าทำได้จริงหรือไม่ ต้องอาศัยปัจจัยการผลิตอย่างไร ซึ่งหากมองผิวเผินแล้วอาหารประเภทเส้นสีขาวที่นิยมในประเทศไทยอย่าง “ขนมจีน” ก็เหมือนกับอาหารโดยทั่วไปที่ต้องผ่านกระบวนการผลิต และมีน้ำเสีย ของเสียจากการผลิตตามมา ซึ่งถ้ามองให้ลึกกว่านั้นโดยอาศัยข้อมูลด้านการผลิตก๊าซชีวภาพมาประกอบ จะเห็นว่าน้ำเสียจากการผลิตเส้นขนมจีนมีอินทรีย์สารเฉกเช่นวัตถุดิบการผลิตอื่นๆ ที่สามารถนำมาผ่านกระบวนการเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพได้ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นก๊าซหุงต้มหรือใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตเป็นไฟฟ้าพลังงานสะอาดสำหรับลดต้นทุนไฟฟ้าของโรงงานขนมจีนได้เลย
“ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานแป้งขนมจีนแม่ทองคำ” โรงงานผลิตแป้งขนมจีนเจ้าเดียวในอำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำเทคโนโลยีมาใช้บำบัดน้ำเสียอย่างมีคุณภาพมาปรับใช้ ด้วยการนำระบบก๊าซชีวภาพเข้ามาเป็นตัวช่วย เนื่องจากเป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมกับน้ำเสียที่มีสารอินทรีย์สูง การเดินระบบใช้พลังงานต่ำ ดูแลรักษาง่าย และสามารถผลิตก๊าซชีวภาพซึ่งนำมาเป็นพลังงานสะอาดก๊าซชีวภาพได้ และยังเป็นต้นแบบที่ดีให้ผู้ประกอบการรายอื่น ในพื้นที่อื่นๆ สามารถเรียนรู้ระบบและนำไปประยุกต์ใช้ในโรงงานของตนเอง เพื่อเพิ่มพื้นที่การใช้พลังงานสะอาดอีกด้วย
ด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการบำบัดน้ำเสียของโรงงานแห่งนี้ เป็นระบบบำบัดแบบกวนสมบูรณ์และการไหลขึ้นลง บ่อหมักมีขนาดปริมาตร 100 ลูกบาศก์เมตร โดยก่อนเข้าสู่บ่อหมักต้องมีการปรับสภาพของน้ำเสียให้เหมาะสม โดยน้ำเสียมีความเข้มข้นของ COD สูงทำให้ได้ก๊าซชีวภาพจำนวนมาก ก๊าซชีวภาพที่ได้จากกระบวนการบำบัดน้ำเสียจะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด
โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมเข้าไปดำเนินการติดตั้งและเป็นที่ปรึกษาระบบก๊าซชีวภาพให้กับโรงงานแป้งขนมจีนแม่ทองคำ ในโครงการบำบัดน้ำเสียด้วยระบบผลิตก๊าซชีวภาพในโรงงานผลิตแป้งขนมจีนแม่ทองคำ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ในการสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในพื้นที่
“ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานแป้งขนมจีนแม่ทองคำ” ถือเป็นตัวอย่างแนวคิดการวางระบบกำจัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และ สามารถนำของเสียที่ได้จากการบำบัดเข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนแนวคิดการใช้พลังงานสะอาดให้เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงต่อหลายพื้นที่ สอดคล้องกับนโยบายของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ที่ต้องการให้ทุกพื้นที่ในประเทศไทยมีการใช้พลังงานสะอาดอย่างเหมาะสม และใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้มีความสุขอย่างยั่งยืน
Hozzászólások