top of page

ภารกิจ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” กับปลายทางของขยะ


เคยสงสัยไหมว่า… ขยะพลาสติกควรไปที่ไหน? ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นกำเนิดของขยะพลาสติก คือน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งคือเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งไม่ผิดที่เราจะใช้พลาสติกเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต แต่สิ่งที่เราพลาดไป จนก่อปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม นั่นคือ “การจัดการขยะที่ไม่ถูกต้อง” ซึ่งอาจเกิดจากความไม่รู้หรือความไม่ใส่ใจก็ได้ จากเหตุผลนี้ทำให้เกิดเป็นแนวคิดและโครงการ ‘ส่งพลาสติกกลับบ้าน’ เพื่อให้เรานำขยะพลาสติกมาสร้างคุณค่าให้มากกว่าการทิ้งไปโดยไร้ประโยชน์


โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เกิดขึ้นโดยเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network-TRBN) ที่มีแนวคิดการใช้ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” มาจัดการปัญหาขยะโดยการนำขยะพลาสติกจากครัวเรือน ชุมชน และในมือของพวกเรา เข้าสู่ผู้ให้บริการและขนส่งขยะพลาสติกไปเข้าสู่ขั้นตอนการรีไซเคิล (Recycle) และอัพไซเคิล (Upcycle) กล่าวคือ นำขยะพลาสติกกลับมาหมุนเวียน แปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งอย่างคุ้มค่า


‘แยกที่บ้าน ฝากทิ้งที่เรา’ คือสโลแกนของโครงการที่เข้าใจได้ง่าย และติดหู ซึ่งหลังจากเริ่มโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ได้ไม่นาน ใน 19 จุดบริการ ก็พบว่ามีประชาชนที่สนใจส่งขยะกลับบ้านมากขึ้น


“ส่งพลาสติกกลับบ้านเป็นการสร้างระบบการจัดการเล็กๆ โดยเชื่อมจากผู้บริโภค แล้วไล่ไปตามระบบด้วยการขนส่ง เพื่อนำเข้าไปสู่องค์กรจัดการขยะ แล้วทำการรีไซเคิล เพื่อให้พลาสติกได้ย้อนกลับมาที่ผู้บริโภคใหม่


ซึ่งการที่จะให้คนแยกประเภทพลาสติกซึ่งมีอยู่หลากหลายประเภทมันอาจจะยากไป โครงการเลยเปิดรับแค่พลาสติกยืด ซึ่งก็คือขยะพลาสติกจำพวกถุงหรือฟิล์มพลาสติกที่ยืดได้ กับพลาสติกแข็ง ประเภทกล่องใส่อาหาร ขวด แก้วน้ำ แล้วนำมาจัดการ ซึ่งสิ่งที่โครงการต้องการจากผู้มาใช้บริการก็คือความสะอาด และแห้งของขยะในระดับหนึ่งเท่านั้นเพื่อง่ายต่อการจัดการต่อ


ปลายทางของพลาสติกที่ถูกส่งกลับบ้าน คือองค์กรที่รับจัดการขยะพลาสติก เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล อย่างโครงการวน (WON project) ของทีพีบีไอ แก้วกรุงไทย จีซี และไอวีแอล (Indorama Ventures) ถึงแม้จำนวนขยะพลาสติก 1 ตัน ในช่วงเกือบสองเดือนแรก จะไม่ได้มากนักเมื่อเทียบกับขยะพลาสติกที่อยู่ในวงจรทั่วประเทศ แต่ก็ถือเป็นแนวโน้มในการเริ่มจัดการขยะจากครัวเรือนที่ดี ซึ่งในอนาคตหากมีขยะปริมาณจำนวนมากขึ้นอาจนำไปสู่กระบวนการ การผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้ แต่แน่นอนทางโครงการฯ ก็ไม่คาดหวังให้มีจำนวนขยะที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน


“ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการจากความร่วมมือของเครือข่ายที่ร่วมกันจัดการขยะ ซึ่งแน่นอนว่ามีแนวคิดที่เริ่มจากคนตัวเล็กๆ อย่างพวกเราเหมือนหลายโครงการฯ ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลไลสำคัญในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ไม่ใช่นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใด แต่เป็นความร่วมมือจากทุกคน เพื่อร่วมจัดการขยะ และร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน

Comentarios


bottom of page