top of page

รวมพลังรักษ์โลก “Smart Campus” 🍀นวัตกรรมพลังงานสะอาดในรั้วจามจุรี


ทุกวันนี้เราทุกคนต้องพบเจอกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากสภาวะโลกรวน หรือ Climate Change รวมถึงปัญหามลพิษทางอากาศที่พบได้ในเมืองหลวงของหลายประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่มีปริมาณรถยนต์จำนวนมาก ทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาทำลายชั้นบรรยากาศจำนวนมาก และยังส่งผลให้เกิดฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

.

เพราะเห็นปัญหา และต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เห็นเป็นรูปธรรม จึงทำให้เกิดโครงการดีๆ อย่าง Smart Campus นวัตกรรมพลังงานสะอาดในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์กรต้นแบบในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กกพ. เพื่อพัฒนา ทดลอง เรียนรู้ และสร้างต้นแบบสิ่งใหม่ อันจะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตได้ ประกอบด้วย 5 โดเมนหลัก ได้แก่ Smart Mobility เช่น บริการรถบัส EV ที่ใช้ในมหาวิทยาลัย เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ลดมลพิษ และประหยัดพลังงานกว่าการใช้รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น นอกจากนี้ยังมีจักรยาน และสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ให้เลือกใช้บริการอีกด้วย รวมทั้งมีสถานีชาร์จรถไฟฟ้ากว่า 50 จุด ในมหาวิทยาลัย สำหรับชาร์จรถบัสของมหาวิทยาลัย และบริการแก่อาจารย์ นิสิต ที่ใช้รถไฟฟ้า สามารถนำมาชาร์จได้ในราคาไม่แพง Smart Security การติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อใช้ในการตรวจจับคน รถยนต์ เหตุการณ์ สภาพภูมิอากาศ แล้วนำมาประมวลผล เพื่อดูแลความปลอดภัยภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย

.

👉Smart Energy ซึ่งออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบน 60 อาคารในพื้นที่จุฬาฯ รวมกำลังในการผลิตไฟฟ้าได้ถึงวันละ 8 เมกะวัตต์ คิดเป็น 11-12% ของปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมดในจุฬาฯ สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ 3.4 ล้านบาทต่อเดือน Smart Environment การตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในจุฬาฯ และด้านนอก โดยมีการติดเครื่องวัดอากาศรอบบริเวณ และสุดท้ายคือ Smart Community เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมและบูรณาการข้อมูลจากทั้ง 4 โดเมน ที่สามารถเปิดดูได้ทางเว็บไซต์และสมาร์ตโฟน

.

นอกจากนี้ยังมีการทดลองการซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแสงอาทิตย์ระหว่างอาคารภายในมหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของ กกพ. เช่นกัน โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแบบ Pier to Pier Energy Platform ซึ่งทาง กกพ. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนากฎระเบียบ, รูปแบบสัญญา รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ ในการตั้งราคาซื้อราคาขาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเกิดแรงจูงใจเพื่อให้ผู้มีส่วนร่วม เข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายมากยิ่งขึ้น

.

ที่สำคัญโครงการ Smart Campus ยังสอดรับนโยบาย 4D1E ของกระทรวงพลังงาน อย่างการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนอาคารต่างๆ ตอบโจทย์ DECENTRALIZATION การผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ และ DECARBONIZATION การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น แพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้า แพลตฟอร์มการควบคุมการใช้ไฟฟ้าในอาคาร เป็นการส่งเสริมให้เกิด DIGITALIZATION ซึ่งทำให้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการควบคุมระบบ และการทดสอบต่างๆ ภายในโครงการก็จะนำไปสู่การพัฒนากฎระเบียบซึ่งตรงกับ DE-REGULATION และสุดท้ายก็มีการใช้รถ EV และมีการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งตรงกับ ELECTRIFICATION เป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ

.

นับเป็นโครงการต้นแบบให้องค์กรอื่นๆ ที่มีศักยภาพสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ทั้งการส่งเสริมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิลผ่านการใช้รถ EV เพิ่มขึ้น ที่จะนำไปสู่การลดปัญหาเรื่อง PM2.5 ของประเทศไทย เพื่อสภาวะแวดล้อมที่ดีขึ้นของทุกคน 🍀🌏

.

ที่มาข้อมูล : https://youtu.be/wQ2-DS58Tb0


#คนบันดาลไฟ #คนบันดาลไฟ2023 #ใครไม่ChangeClimateChange

#เปลี่ยนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า #พลังงานสะอาด #กกพ #cleanenergyforlife


コメント


bottom of page