“ขยะจากอาหาร” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่เสมอทุกวัน จากการกิน การดื่มที่เกินจำเป็น มีมากจนทุกคนชิน จนบางทีเผลอลืมไปด้วยซ้ำว่านี่คือขยะ เพราะหลายหน่วยงานได้ทุ่มเทไปกับการรณรงค์การจัดการขยะประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นขยะพลาสติก ขยะอุตสาหกรรม หรือ ขยะอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน
ซึ่งขยะหน่วยเล็กๆ จำนวนมหาศาลที่ถูกมองข้ามนี้ กับไปสะกิดใจคนทำร้านอาหารเล็กๆ ในกรุงเทพฯ อย่างร้าน “โบ.ลาน” ที่มองว่าปัญหาขยะจากอาหารต้องไม่จัดการที่ปลายทาง แต่ต้องเริ่มจัดการตั้งแต่การวางแผน สร้างสรรค์วัตถุดิบ และที่สำคัญต้องเริ่มจากต้นทาง
ร้าน โบ.ลาน เป็นร้านอาหารแบบ Fine dining ใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง การบริการที่ประทับใจและบรรยากาศแสนร่มรื่นของบ้านไม้ และที่สำคัญพวกเขาใช้ไอเดียการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ เป็นจุดขายดึงดูดลูกค้า ร้าน โบ.ลาน เห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เปิดร้าน และวางรูปแบบการทำร้านอาหารที่ก่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด ทั้งการลดใช้พลาสติก การรีไซเคิล และการใช้วัตถุดิบแต่ละชนิดให้ถึงที่สุดก่อนที่จะกลายเป็นขยะ และยังมีความเชื่อว่าการกินหรือการทำอาหารล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบกับธรรมชาติ
แคมเปญ “ขยะถึงหลุมฝังกลบเหลือศูนย์ - Zero Waste to Landfill ” จึงเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของภาคีและอุดมการณ์ของนักดูแลสิ่งแวดล้อมภาคประชาชน เจ้าของร้านอาหารที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ร้าน E•R•R บาร์ที่ใช้วัตถุดิบเหลือจากก้นครัวมาสร้างสรรค์เครื่องดื่ม , ร้าน Wasteland จำหน่ายไวน์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ , มุมขายวัตถุดิบและเครื่องปรุงจากท้องถิ่น Bo.lan Grocer และยังมี Etna โรงหลอมแก้วที่เหลือเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยเข้าร่วมด้วย ซึ่งทำให้การหาศักยภาพของวัตถุดิบ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดนั้นเป็นจริงได้
โบ.ลาน มีแนวคิดที่จะช่วยลดปริมาณของขยะฝังกลบ โดยเป้าหมายหลักของโครงการคือ ลดปริมาณขยะที่จะต้องเดินทางจากร้านอาหารนี้ไปที่บ่อขยะให้เป็นศูนย์ ด้วยการจัดการระบบภายในบ้าน ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำจัดการทุกอย่างที่เราจัดการได้ ดูว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นในร้าน ในการทำอาหาร และอะไรที่อาจเป็นขยะในอนาคต วัสดุและวัตถุดิบจึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงก่อนเสมอในการจัดการเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดกับสิ่งแวดล้อม
อีกระบบที่ถูกนำมาใช้ คือ เรื่องของ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) แนวคิดของระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเพิ่มการหมุนเวียนเอาทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดเป็นวงจรไม่รู้จบ แต่ตอนนี้ร้านอาหารในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นเส้นตรง คือดึงเอาทรัพยากรมาใช้แล้วก็ไปเป็นขยะ มันจะดีกว่าไหม ถ้าเราหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งแต่ภาคการผลิต การบริโภค ไปจนถึงการจัดการของเสียด้วยกระบวนการใช้ซ้ำ (Reuse) หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการผลิตใหม่ (Re-material)
นี่ก็ถือเป็นไอเดียเริ่มต้นของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่ทำร้านอาหารในประเทศไทยและมีจิตสำนึกในการจัดการ เพื่ออยากเห็นอนาคตด้านสิ่งแวดล้อมของเราดีขึ้น เริ่มง่ายๆ ด้วยการวางแผน การจัดการทรัพยากรและวัตถุดิบจากก้นครัวให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด แต่อย่างไรก็ตามปัญหาขยะก็ไม่อาจจัดการด้วยตัวเอง 100% แนวคิดการนำขยะอินทรีย์มาใช้ประโยชน์ต่อจึงเกิดขึ้น เช่น นำขยะอินทรีย์เข้าสู่ระบบการหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพสำหรับใช้เป็นพลังงานความร้อนและผลิตไฟฟ้า แต่นั่นก็ควรเป็นปลายทางสุดท้ายที่ท้ายสุดจริงๆพวกเราสามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวเองที่บ้าน อย่างน้อยๆ ก็ลดปริมาณขยะในแต่ละวันให้ได้ เพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเราทุกคน
Comments