top of page

“ไม้โตเร็ว” วัตถุดิบชีวมวลสร้างชาติ


ไม้อะไรก็ทำเป็นวัตถุดิบชีวมวลสำหรับผลิตไฟฟ้าได้ใช่ไหม? แต่เมื่อถามถึงความคุ้มค่าของการจัดการวัตถุดิบแล้ว “ไม้” ที่มีความเหมาะสมทั้งในแง่ของการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว และสามารถปลูกได้ในปริมาณมากเหมาะสมกับการนำสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด อาจมีไม้ไม่กี่สายพันธุ์ที่ตอบโจทย์

พันธุ์ไม้โตเร็วที่พบมากและสามารถปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้ในประเทศไทยอย่าง #กระถินเทพณรงค์

#กระถินยักษ์ #สนประดิพัทธ์ #ยูคาลิปตัส และ #เสม็ดขาว จึงกลายเป็นไม้เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างงดงามในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในการนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดหรือ Wood Pellet เพื่อป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดชีวมวล

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และผู้สนับสนุนงานวิจัย อย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้การปลูกพืชพลังงานขึ้นและยังร่วมกันสนับสนุนการปลูกพันธุ์ไม้โตเร็วในสวนยางพาราภาคอีสานกว่า 30-40 ไร่ และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการวิจัยเพื่อเตรียมป้อนวัตถุดิบเชื้อเพลิงพลังงานชีวมวลจากไม้โตเร็วสู่โรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยเริ่มจากกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้วัตถุดิบชีวมวล 1.5 แสนตัน/ปี

หัวใจสำคัญของการจัดการพืชพลังงาน คือต้องมีการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีข้อมูลที่ทันสมัย และควรมีวัตถุดิบอย่างเพียงพอโดยสำรองไว้อย่างน้อย 1 เดือน ทั้งนี้ผลการศึกษาพบว่าไม้ที่เหมาะสม คือ กระถินยักษ์ กระถินเทพณรงค์ กระถินเทพา ไม้สะแก สะแกนา ไม้มะม่วง มะขาม รวมถึงยูคาลิปตัส

นอกจากนี้โรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและผลิตวัตถุดิบชีวมวลขายเข้าโรงไฟฟ้าได้ด้วย โดยราคาไม้ท่อนเฉลี่ย 600 บาท/ตัน ส่วนไม้สับ 900-1,300 บาท/ตัน วิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาการต่อต้านโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนได้ ซึ่งต่างจากรูปแบบปัจจุบันที่เอกชนเป็นเจ้าของเพียงผู้เดียว และเกษตรกรก็เป็นเพียงผู้ขายวัตถุดิบให้เท่านั้น

สำหรับการปลูกไม้โตเร็วนั้น ปีแรกเกษตรกรจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายอย่างมาก ทั้งการเตรียมพื้นที่ กล้าไม้และการปลูก คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 5,000 บาทต่อไร่ ผลตอบแทนไร่ละ 2,000-3,000 บาทในกรณีที่สภาพดินสมบูรณ์ โดยใช้ระยะเวลาให้ผลผลิตต่อรอบประมาณ 2 ปี ตัดและแตกหน่อขึ้นใหม่ได้ 3-5 ครั้ง

แน่นอนว่าไม้โตเร็วเหล่านี้จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจได้ ต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งหากมองเพียงแง่ของการลงทุนหรือผลกำไร อาจจะคืนทุนค่อนข้างช้า แต่หากมองในแง่ของการพัฒนาคุณภาพชีวิต การให้อาชีพ การมีส่วนร่วมกับโรงไฟฟ้า และการเพิ่มพื้นที่ป่า เก็บกักคาร์บอนเพื่อช่วยลดสภาวะโลกร้อนได้ ถือว่าการวิจัยและจัดการชีวมวลเพื่อนำไปสู่การผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่คุ้มค่าสอดคล้องกับปณิธานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ที่อยากเห็นการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจควบคู่กับการที่ผู้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการใช้พลังงานสะอาด


Comments


bottom of page