แอดมินอยากชวนพี่น้องชาวเพจคนบันดาลไฟ…มาลองดูไอเดียการจัดการขยะแบบญี่ปุ่นๆ กันดู ว่าพวกเขามีวิธีการแบบไหนบ้างในการจัดการขยะ เพื่อทำให้บ้านเมืองสะอาดและยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ง่ายๆ แบบทันที พร้อมกับเป็นการรีไซเคิลขยะไปในตัวด้วย ตัวอย่างเช่น การนำขยะไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า (WASTE TO ENERGY)
ซึ่งการแบ่งประเภทของขยะในแต่ละเมืองของญี่ปุ่นนั้น มีระบบไม่เหมือนกันสักทีเดียว แต่ส่วนใหญ่จะแยกเป็นประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
1. ขยะประเภทเผาได้ คือ ขยะทั่วไป มักจะเป็นเศษอาหาร บรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหาร ถุงพลาสติก เศษกระดาษชิ้นเล็กที่นำวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ออกมาแล้ว ซึ่งขยะประเภทนี้ เมื่อเราอยู่ที่ญี่ปุ่นสามารถใส่ถุงรวมกันแล้วมัดให้สนิทได้เลย ในกรณีที่เป็นเศษอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนผสมให้กรองเนื้อกับน้ำออกจากกันก่อน แล้วนำเศษอาหารที่กรองได้ใส่ถุงซ้อน 2 ชั้น เพื่อกันน้ำไหลหกออกจากถุง ก่อนที่จะไปวางในจุดทิ้งขยะเพื่อนำไปจัดการต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการทำปุ๋ย หรือการนำไปหมักให้เกิดก๊าซชีวภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด
2. ประเภทเผาไม่ได้ คือขยะที่ต้องใช้ความร้อนในการเผาที่สูงมาก หรือเป็นขยะมีพิษ และขยะที่ต้องมีวิธีกำจัดแบบพิเศษที่ไม่ใช่การเผา เช่น ถ่านหรือแบตเตอร์รี่ กระป๋องสเปรย์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคขนาดเล็ก โลหะ เศษแก้วแตกหรือเซรามิก ซึ่งวิธีการจัดการของเหล่านี้อาจจะมีขั้นตอนที่เพิ่มขึ้น เช่น ถ่านหรือแบตเตอร์รี่ให้ใส่ถุงเล็กแยกต่างหาก เศษแก้วแตกควรหากระดาษห่อและติดเทปให้แน่นหนาและเขียนบนห่อเตือนไว้ด้วยว่า Glass / Ceramic ส่วนขยะที่เหลืออื่นๆ ให้นำใส่ถุงเดียวกันมัดให้เรียบร้อย ที่สำคัญควรเช็คความหนาแน่นของถุงให้ดี
3. ขยะรีไซเคิล ขยะแบบนี้คนญี่ปุ่นเรียกอีกอย่างว่า SHIGEN แปลว่า ทรัพยากร เพราะเป็นทรัพยากรมีค่าที่นำไปจัดการเพื่อใช้ใหม่ได้ไม่ยาก เช่น บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มหรือขวดเครื่องปรุงต่างๆ กระป๋องอลูมิเนียม ขวดแก้ว ขวดพลาสติก ฯลฯ ซึ่งวิธีการจัดการก็คือ เริ่มจากการแยกฝาพลาสติกและแกะฉลากพลาสติกออกจากขวด (ตามประเภทขวด) ต่อมาเทน้ำที่กินเหลือทิ้งให้หมด ล้างด้านในขวดหรือกระป๋องด้วยน้ำสะอาด ต่อด้วยบีบหรือเหยียบให้แบน เพื่อลดพื้นที่ในการจัดเก็บขยะของทางเขต ขั้นตอนสุดท้ายเพียงแค่คุณแยกใส่ถุงเป็น 3 ถุง กระป๋องอลูมิเนียม / ขวดแก้ว / ขวดพลาสติก มัดให้เรียบร้อย ก่อนจะนำไปวางตามจุดทิ้งเพื่อง่ายต่อการนำไปจัดการต่อ
4. ขยะกระดาษหรือกล่องใช้แล้ว ขยะอย่างกระดาษ หนังสือพิมพ์ โบชัวร์ นิตยสาร กล่องรองเท้า กล่องขนม กล่องทิชชู่ กล่องนม ก็ถือเป็นขยะที่มีมากในญี่ปุ่น เพราะความใส่ใจในการห่อสินค้า เมื่อแกะเสร็จแล้วมักจะต้องมีขยะเสมอ ซึ่งเขาก็มีวิธีจัดการขยะพวกนี้แบบน่ารักๆ คือการนำมารวบรวมเป็นกองเดียวและมัดด้วยเชือกฟางหรือใส่ถุงพลาสติก สำหรับกล่องกระดาษต่างๆ รวมถึงลูกฟูก อย่างกล่องรองเท้า กล่องขนม กล่องทิชชู่ ให้คลี่กล่องออกมาจนเป็นแผ่น มัดรวมกันแยกเป็นอีกกอง และสุดท้ายสำหรับกล่องนม กล่องน้ำผลไม้ หรือกล่องที่ใส่ของเหลว ต้องล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย ตากให้แห้ง และมัดรวมกันแยกเป็นอีกกอง เพื่อง่ายต่อการนำไปจัดการต่อ
ทั้งหมดนี้ก็เป็นการจัดการขยะแบบง่ายๆ ด้วยตัวเองตั้งแต่ที่บ้านในแบบฉบับของคนญี่ปุ่น แน่นอนว่ามีการปลูกจิตสำนึกในเรื่องนี้ตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งถือว่าเป็นการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อบ้านเมืองและคุณภาพชีวิตที่สะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือง่ายต่อการนำไปจัดการต่อ ไม่ว่าจะเป็นการรีไซเคิล หรือ การนำไปสู่กระบวนการผลิตเป็นไฟฟ้าพลังงานสะอาด (WASTE TO ENERGY) ซึ่งไอเดียเหล่านี้สามารถถูกนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยของเราได้ แต่ท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับพวกเราแล้วหละว่าจะช่วยกันจัดการขยะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคนได้อย่างไร ร่วมมือไปพร้อมกันนะ ^^
Comments